วันพฤหัสบดีที่ 16 กันยายน 2564 สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดตราด ได้รับการประสานงานจาก สำนักงาน พมจ.ชุมพร ขอให้ตรวจสอบกรณี Facebook Group แจ้งเหตุชุมพร V.2 นำเสนอโพสต์ของกุ้งนาง แม่กอข้าว มีรายละเอียดว่า “เค้าเป็นน้องสาวของดิฉันเองค่ะ น้องเค้ายุที่จังหวัดตราด เค้าส่งข้อความมา ขอความช่วยเหลือให้ไปรับเค้าที เค้าจะถูกสามีทำร้ายร่างกายตลอดระยะ 2 ปีนี้…” ในเช้าวันพฤหัสบดีที่ 16 กันยายน 2564 การสอบข้อเท็จจริง: นางสาววรรณา อรัญกุล พมจ.ตราด พร้อมด้วย เจ้าหน้าที่ พมจ.ตราด (นางสาวนันท์นภัส หาญพล เจ้าหน้าที่ยุติความรุนแรงในครอบครัว และนางสาวประภาพร แก้วศรี นักสังคมสงเคราะห์ชำนาญการ) ได้ประสานงานกับ สถานีตำรวจภูธรอ่าวช่อ (สภ.อ่าวช่อ) ต.อ่าวใหญ่ อ.เมืองตราด จ.ตราด และอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) ในบ่ายวันเดียวกันทันที ซึ่งตำรวจได้เรียก ผู้ร้อง (ภรรยา) อายุ 32 ปี ต.อ่าวใหญ่ อ.เมืองตราด จ.ตราด และสามีมาพูดคุย สอบถามข้อเท็จจริง ณ ห้องประชุม ชั้น 2 สภ.อ่าวใหญ่ ทราบว่า (เดิม) สามีมีภรรยา 2 คน มีบุตรกับภรรยาเก่า 2 คนและแยกทางกัน ส่วนผู้ร้องเป็นภรรยาคนที่ 3 ได้อยู่กินกับสามีโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส จนมีบุตรหญิงด้วยกัน 1 คน อายุ 6 ปี ผู้ร้องเคยแยกทางกับสามีและนำลูกเดินทางกลับไปอาศัยอยู่กับมารดาที่จังหวัดชุมพรเป็นเวลา 3-4 เดือน เมื่อ 2 ปีก่อน สามีโทรไปขอคืนดี จึงเดินทางกลับมาจดทะเบียนสมรสกับสามีและอาศัยอยู่ด้วยกันที่บ้านเลขที่ดังกล่าวดังเดิม เนื่องจากสามีชอบเล่นสล๊อตและเสียบ่อย ๆ ทำให้มีอารมณ์ฉุนเฉียว บันดาลโทสะทำร้ายร่างกายผู้ร้องเป็นประจำ ครั้งล่าสุดโดนทำร้ายเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2564 โดยสามีใช้เท้าเตะไปที่แขนขวาตรงข้อพับ มีอาการปวด มีรอยฟกช้ำตามร่างกายและบนใบหน้า ผู้ร้องมีความประสงค์เดินทางกลับไปอาศัยอยู่กับมารดาและน้องสาวที่จังหวัดชุมพรดังเดิม ส่วนบุตรนั้น สามีขอเป็นผู้อุปการะ การให้ความช่วยเหลือ: 1. สภ.อ่าวช่อ ได้ทำบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน 2. สำนักงาน พมจ.ตราด ได้นำผู้ร้องไปรับการตรวจร่างกายจากรอยฟกช้ำ และอาการปวดแขนขวา ที่โรงพยาบาลตราด ปรากฏว่า ปกติ จึงนำผู้ร้องเข้ารับการคุ้มครองสวัสดิภาพเบื้องต้นในบ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดตราด ในคืนวันพฤหัสบดีที่ 16 กันยายน 2564 แล้วนำส่งขึ้นรถเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อต่อรถกลับจังหวัดชุมพรในเช้าวันรุ่งขึ้นต่อไป แผนการให้ความช่วยเหลือต่อไป: ติดตามพฤติกรรมสามีเลี้ยงดูบุตรของผู้ร้อง เป็นระยะ เพื่อเฝ้าระวัง ป้องกัน ช่วยเหลือ คุ้มครองมิให้สามีกระทำความรุนแรงต่อเด็กต่อไป